เห็ดโคน เห็ดระโงก เห็ดเผาะ

เห็ดโคน (ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Termitomyces fuliginosus Heim) เป็น เห็ดชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ Termitophilae เป็นเห็ดป่าเติบโตได้ดีในสภาพธรรมชาติ ความชื้นและอุณหภูมิที่พอเหมาะ มีรูปร่างเหมือนเห็ดทั่วไปคือมีก้านเห็ดและหมวกเห็ด ดอกใหญ่ โคนอวบหนา มีกลิ่นเฉพาะตัว มักเกิดตามจอมปลวก จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เห็ดปลวก มีการอพยพของปลวกที่เราเรียกว่า แมลงเม่า ออกจากรังปลวกเดิม เพื่อสร้างรังใหม่ การที่ฝนตกชุกจนมีความชุ่มชื้นเหมาะสม เมื่อปลวกในรังปลวกมีปริมาณลดลง ตุ่มดอกเห็ดเล็กๆ สามารถมีโอกาสที่จะเจริญเติบโตเป็นดอกเห็ดที่มีความชุ่มชื้นออกมาได้

สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายชนิด ประกอบกับการที่เห็ดโคนเองมีรสชาติที่น่ารับประทาน จึงจัดเป็นเห็ดหายากจะต้องหาตามป่าเขาห่างไกลความเจริญ ซึ่งเห็ดโคนนั้นมีรสหวานอร่อยกว่าเห็ดอื่นๆ ปรุงง่ายเพียงต้มกับเกลือก็ได้น้ำต้มเห็ดรสหวานตามธรรมชาติ นอกจากนำไปต้มกับน้ำเกลือแล้วเราอาจนำเห็ดโคนไปประกอบอาหารที่หลากหลายได้ นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณช่วยเจริญอาหาร บำรุงกำลัง แก้บิด แก้คลื่นไส้ อาเจียน แก้ไอ ละลายเสมหะ และมีโปรตีนสูงอีกด้วย การทดลองทางเภสัชศาสตร์พบว่าน้ำที่สกัดจากเห็ดโคนสามารถยับยั้งเชื้อโรคบางชนิด เช่น เชื้อไทฟอยด์ได้ จึงเป็นที่นิยมกันมาก ซึ่งมีวางขายเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น ประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคมและจะมีให้รับประทานเพียงปีละ 1 ครั้ง พบมากในแถบจังหวัดกาญจนบุรี นครราชสีมา ราชบุรี กำแพงเพชร​ และเพชรบุรี เมื่อพื้นที่ป่าค่อยๆ หมดไป เห็ดโคนจึงหายากและมีราคาแพง ราคาเห็ดโคนตูมอยู่ที่กิโลกรัมละ300-500บาท​ ​ส่วนเห็ดโคนที่บานแล้วอยู่ที่กิโลกรัมละ200-350บาท




 เห็ดระโงกหรือ “เห็ดไข่ห่าน” มีชื่อวิทยาศาสตร์ Amanita vaginata   ดอกตูมกลีบรี คล้ายไข่ห่าน เมื่อโตขึ้นหมวกและก้านดอกจะดันปลอกหุ้มแตกออกมา  ดอกเห็ดมีลักษณะเป็นเมือก  ก้านดอกยาวรูปทรงกระบอก ผิวเรียบสีขาวหรือเหลืองนวล เนื้อเยื่อภายในก้านดอกสีขาว สานต่อกันอย่างหลวมๆ ตรงกลางก้านดอกมีรูกลวงเล็กน้อย เห็ดระโงก มีทั้งดอกสีขาว สีแดงและสีเหลือง มักขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ในป่าโปร่งหรือป่าละเมาะทั่วไปในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน

“เห็ดระโงก” เรียกอีกชื่อว่า “เห็ดไข่ห่าน” มีราคาแพง นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลายในภาคเหนือและภาคอีสาน เห็ดระโงกนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ผัดเห็ดน้ำมันหอย เห็ดระโงกนึ่งจิ้มแจ่ว แกงเห็ดระโงกใส่ใบมะขามอ่อน

 ช่วงฤดูฝน หลังฝนตก 2-3 วัน เกิดภาวะอากาศร้อนชื้น สภาพอากาศร้อนอบอ้าว และมีแสงแดด ชาวบ้านจะออกไปเก็บเห็ดระโงกในป่าธรรมชาติ เช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง เห็ดระโงกมักขึ้นเป็นเห็ดดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม 4-5 ดอก กระจายอยู่ทั่วไป เดิมที เห็ดระโงกหากินได้เฉพาะหน้าฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน -กรกฎาคมไปจนสิ้นฤดูฝน แต่ปัจจุบัน กรมป่าไม้ประสบความสำเร็จในการผลิตเห็ดระโงกนอกฤดู โดยนำเมล็ดยางนามาเพาะให้เป็นต้นกล้า แล้วนำดินใต้ต้นเห็ดแก่ที่ทิ้งสปอร์ลงดิน ไปใส่โคนต้นยางนา นอกจากนี้ยังใช้วิธีนำเห็ดระโงกต้นแก่ที่ดอกบานเต็มที่จนสร้างสปอร์แล้ว มาล้างน้ำ หรือดอกแก่จัดมาขยี้ในน้ำ แล้วนำน้ำที่มีสปอร์ของเห็ดปนอยู่ไปโปรยที่โคนต้นยางนา กรมป่าไม้ได้เผยแพร่ความรู้เรื่องการผลิตเห็ดระโงกนอกฤดูให้ชาวบ้าน ใช้สร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน  ลดการบุกรุกทำลายป่า เหมือนในอดีต


 “เห็ดเผาะ” (อีสาน) หรือ “เห็ดถอบ” (เหนือ) เป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่ตามป่าชื้น ส่วนมากจะพบเห็ดเผาะตามป่าธรรมชาติในช่วงต้นฤดูฝน ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีหรือเทคโนโลยีที่สามารถเพาะเองได้ หรืออาจจะมีแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงไม่ค่อยเห็นมีการเพาะเห็ดเผาะกันเป็นเรื่องเป็นราว สำหรับเห็ดเผาะที่หาซื้อหรือนำมากินทุกวันนี้เป็นเห็ดเผาะที่เก็บได้ตามป่าเต็งรังในช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น

“เห็ดเผาะ” เกิดขึ้นได้ทุกภาค แต่ยกเว้นภาคใต้ที่ไม่มี เห็ดเผาะเป็นที่นิยมกินกันทั่วไปตามหมู่บ้านแถวชนบท เห็ดเผาะเป็นเห็ดที่มีขนาดเล็ก เกิดในป่าที่เป็นดินโคก หรือดินที่เป็นดินเหนียวปนหินดินแดง มักเกิดเป็นกลุ่มๆ มีลักษณะกลม แบน เป็นส่วนใหญ่ เห็ดเผาะที่มีสีออกคล้ำโทนน้ำตาล ชาวบ้านจะเรียก เห็ดเผาะ เฉยๆ แต่เห็ดเผาะ ส่วนที่มีสีโทนขาว และมีใยเหมือนฝ้ายพันรอบๆ เขาเรียกว่า เห็ดเผาะฝ้าย เพราะมันมีสีขาวเหมือนฝ้าย
เห็ดเผาะนั้นสามารถเพาะขึ้นมาได้โดยอาศัยต้นไม้ที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น และต้องอยู่ร่วมกันแบบอาศัยพึ่งพากับต้นเต็ง รัง ต้นยาง ซึ่งต้องยกให้เป็นเรื่องของธรรมชาติไปก็แล้วกัน! เมื่อคนเพาะเห็ดเผาะไม่ได้ จึงทำให้มีราคาแพงไม่เคยตกเลยทุกปี แถมยังหากินได้ยาก และได้กินปีละครั้งเท่านั้น สำหรับเมนูเห็ดเผาะนั้น ถือเป็นหนึ่งในเมนูสุดฮิตของคนเหนือ และอีสานที่เขานิยมชมชอบกินกันมาก
เห็ดเผาะ เป็นเห็ดราชั้นสูง มีวิวัฒนาการมาหลายล้านปี ทำหน้าที่ปรับสภาพดิน แลกเปลี่ยนสารอาหาร ย่อยสลายสารที่จำเป็นต่อผืนป่าให้กลับคืนสู่ดิน ซึ่งส่วนมากป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง และป่าแดง จะเป็นถิ่นกำเนิดของเห็ดเผาะ และอาหารของมันคือ สารขี้กะยือ ได้จากการย่อยสลายของใบไม้ชนิดที่เกิดในป่าเต็งรัง และการทับถมของใบไม้ทำให้เกิดแบคทีเรียกลุ่ม รูปทรงกลมรี หรือรูปไข่ เมื่อถูกน้ำฝนดูดซึมลงผืนดิน ก็จะปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อยสลายสารอินทรีย์จนเป็นโมเลกุลเล็ก เชื้อราของเห็ดเผาะก็ดูดซึมเข้าเซลล์ตัวเองจนเจริญเติบโต กลายมาเป็น “เห็ดเผาะ
ลักษณะของเห็ดเผาะเป็นเห็ดไม่มีก้านดอก มีสีน้ำตาลอ่อน เมื่อแก่มีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ผนังดอกแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นนอก กับ ชั้นใน ภายในประกอบด้วยสปอร์จำนวนมาก เมื่อแก่ดอกเห็ดจะปริแตกออกเป็นแฉก 7-11 แฉก และค่อยๆ ปล่อยสปอร์ออกมาตามอากาศหรือแรงลม
เท่าที่รู้มาเขาบอกว่า เห็ดเผาะนั้นมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ เห็ดเผาะหนัง กับ เห็ดเผาะฝ้าย
ห็ดเผาะหนังจะกินอร่อยกว่า เวลาเก็บเห็ดก็สังเกตดู ถ้าผนังมีผิวเรียบ ดอกเห็ดหนาและแข็ง หากจับรู้สึกแข็งไม่นุ่มมือ เป็นเห็ดเผาะหนังค่ะ ส่วนเห็ดเผาะฝ้าย หนังจะมีลักษณะบาง มีเส้นใยที่เป็นขุยสีขาวรอบๆ ผิวดอก และผิวอ่อนนุ่มกว่าเห็ดเผาะหนัง
ขอบคุณสำหรับแหล่งที่มาของข้อมูล:https://www.technologychaoban.com/

 

Visitors: 270,619