บทความที่น่าสนใจ

 ปูนา (อังกฤษ: Ricefield crabs) เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทปูน้ำจืดในวงศ์ Parathelphusidae ในสกุล Somanniathelphusa แหล่งที่อยู่มักจะอยู่ในนาข้าวจึงเรียกว่าปูนา

 ปูนาแพร่กระจายพันธุ์ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงบางพื้นที่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออก เกษรกรผู้ปลูกข้าวในไทย ถือว่าปูนาเป็นศัตรูพืชของข้าว เพราะปูจะกัดกินต้นข้าวที่ปักดำใหม่ ๆ ทำให้ชาวนาต้องปักดำซ้ำหลายครั้ง นอกจากนี้ ปูยังขุดรูตามคันนา ทำให้คันนาไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ แต่ปูนาก็เป็นอาหารราคาถูกและหาง่ายโดยเฉพาะกับวิถีชีวิตผู้คนในชนบท และเป็นส่วนประกอบสำหรับปรุงเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น ส้มตำ

 ในประเทศไทยพบมี 8 ชนิด ในภาคต่าง ๆ ดังนี้

 1. Somanniathelphusa germaini พบใน 27 จังหวัดคือ คือ ภาคกลาง 22 จังหวัด ภาคตะวันตก 2 จังหวัด ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ภาคใต้ 1 จังหวัดและภาคเหนือ 1 จังหวัด

 2. Somanniathelphusa bangkokensis พบใน 18 จังหวัดคือ คือ ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันตก 4 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด

 3. Somanniathelphusa sexpunetata พบใน 19 จังหวัดคือ คือ ภาคกลาง 1 จังหวัด ภาคตะวันตก 1 จังหวัด ภาคตะวันออก 4 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด

 4. Somanniathelphusa maehongsonensis เป็นปูชนิดใหม่ ที่พบในแห่งเดียวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 5. Somanniathelphusa fangensis เป็นปูชนิดใหม่ที่พบในจังหวัดลำปางและเชียงใหม่

 6. Somanniathelphusa denchaii เป็นปูชนิดใหม่ที่พบในจังหวัดแพร่

 7. Somanniathelphusa nani เป็นปูชนิดใหม่ล่าสุดที่พบในจังหวัดน่าน

 8. Somanniathelphusa dugasti (หรือ Esanthelphusa dugasti ในอดีต) พบใน ภาคกลาง 10 จังหวัด ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และภาคเหนือ 9 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด

 ปูนาบางชนิดเช่น S. dugasti มีอาณาเขตการแพร่กระจายกว้างมากถึง 40 จังหวัด ในภาคกลางมีปูอยู่ถึง 3 ชนิด ในภาคใต้พบมี 2 ชนิด ทางภาคเหนือบางจังหวัดพบมีชนิดเดียว 

 ปูนาจะพบมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูที่อุดมสมบูรณ์ เพราะวิถีชีวิตของปูนาจะผูกพันกับน้ำ โดยผสมพันธุ์และวางไข่เพียงปีละครั้ง ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม ปูนาตัวเมียเมื่อผสมพันธุ์แล้วจะขุดรูให้สูงกว่าระดับน้ำ เพื่อเตรียมอุ้มไข่และจะไม่ลอกคราบจนกว่าไข่จะฟักเป็นตัว ปูนาส่วนใหญ่จะออกหากินในเวลากลางคืน ใช้การลอกคราบราว 13-15 ครั้ง หลังจากฟักเป็นตัว ใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนจึงโตเต็มวัย นอกจากนี้แล้วจากการศึกษาพบว่าเปลือกของปูนามีสารไคตินสูงถึงร้อยละ 19.27 ในสภาพน้ำหนักแห้ง ในขณะที่เปลือกของปูทะเลมีเพียงร้อยละ 14.14 เท่านั้น ดังนั้นเปลือกของปูนาจึงมีประโยชน์ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตไคโตซานได้เป็นอย่างดีกว่าสัตว์จำพวกครัสเตเชียนอย่างอื่น


การเลี้ยงปูนาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

1.เลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์ทั้งบ่อกลมและบ่อสี่เหลี่ยม โดยเกษตรกรเลี้ยงประมาณ 10 เดือนพบว่าปูได้ขนาดที่ต้องการและเลี้ยงง่าย กินอาหารง่าย สามารถแพร่พันธุ์ได้ และขั้นตอนในการเลี้ยงไม่ยุ่งยากข้อดีของการเลี้ยงแบบนี้คือดูแลง่ายปูไม่หนี

2.การเลี้ยงปูนาในบ่อดิน
ซึ่งการเลี้ยงวิธีนี้ควรมีอวนมุ้งตาถี่ล้อมรอบบ่อเพื่อป้องกันปูหนี แต่ข้อสำคัญของบ่อเลี้ยงปูนาคือ ประมาณ 3/4 ของพื้นที่บ่อควรเป็นดินสูงประมาณ 30 ซม. เพื่อให้ปูได้ขุดรูอยู่อาศัย ส่วนที่เป็นดินนี้จะลาดเข้าหา อีกส่วนหนึ่งที่เป็นน้ำ

วิธีการเลี้ยง

1. การเตรียมบ่อเลี้ยงปู สร้างบ่อซีเมนต์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร และสูง 1 เมตร นำท่อพีวีซี จำนวน 2 ท่อ มาใส่ไว้ในบ่อสำหรับระบายน้ำออกจากบ่อ

ในกรณีที่ทำบ่อใหม่ให้ใส่น้ำลงไปเพื่อลดความเค็มจากปูนซีเมนต์ในบ่อ ทำการเปลี่ยนน้ำในบ่อประมาณ 3-4 ครั้ง และอาจนำต้นกล้วยมาใส่ลงไปในบ่อเพื่อให้หายเค็มเร็วขึ้น หลังจากนั้นนำดินมาใส่ลงไปจนมีความสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร (อาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่) บ่อเลี้ยงปูควรอยู่ในที่ร่มเพราะปูไม่ชอบอากาศร้อน

ถ้าอากาศร้อนมากปูจะตายดังนั้นบ่อเลี้ยงควรมีร่มเงาจากต้นไม้หรือมีหลังคาหรือทำตาข่ายพรางแสง ใส่ท่อหรือแผ่นกระเบื้องเพื่อให้ปูมีแหล่งซ่อนตัวและหลบหลีกเพราะว่าปูมีนิสัยชอบทำร้ายกันเอง นอกจากนี้ยังต้องมีตาข่ายปิดปากบ่อเพื่อป้องกันไม่ให้ปูหนี

หากเกษตรกรมีบ่อเก่าอยู่แล้วก็สามารถเลี้ยงปูนาได้โดยไม่ต้องทำบ่อใหม่ ทำการจัดสภาพแวดล้อมในบ่อให้เลียนแบบที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของปู โดยการปลูก ข้าว ผักบุ้ง หญ้า จอกแหน สาหร่าย เพราะนอกจากที่ปูจะใช้เป็นอาหารแล้วยังใช้เป็นแหล่งหลบซ่อนอีกด้วย หลังจากนั้นใส่น้ำลงไปในบ่อให้สูงประมาณ 3-5 เซนติเมตร

2. นำปูที่จับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติโดยใช้ขนาดความยาวของลำตัวประมาณ 4 เซนติเมตร คัดเอาแต่ตัวที่แข็งแรงและมีขาที่ครบสมบูรณ์มาปล่อยลงในบ่อ โดยใช้ปูตัวผู้ 25 ตัว ปูตัวเมีย 25 ตัว

3. การให้อาหารปูควรให้วันละครั้งตอนเย็น อาหารที่ใช้เลี้ยงปู ได้แก่ ข้าวสุก (ข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวก็ได้) ปลาที่สับเป็นชิ้นเล็กๆ กุ้งฝอย ผักบุ้ง ผักกาด ผลไม้สุกต่างๆ เช่น มะม่วง มะละกอ กล้วย

ข้อควรระวังก็คืออย่าให้อาหารปูมากเกินไปและต้องคอยหมั่นสังเกตดูว่าให้อาหารแค่ไหนปูถึงจะกินหมดเพราะถ้ามีอาหารเหลือก็จะบูดเน่า ดังนั้นจึงต้องเก็บออกจากบ่อเพราะหากทิ้งไว้ให้เน่าจะทำให้น้ำสกปรกทำให้ปูเป็นโรค สำหรับการระบายน้ำนั้นต้องระบายน้ำออกจากบ่อและเปลี่ยนน้ำใหม่ประมาณเดือนละ 2-3 ครั้ง

4. ปูนาจะผสมพันธุ์กันในช่วงฤดูฝน แม่ปู 1 ตัว มีไข่ประมาณ 500-700 ฟอง ดังนั้นปูนา 1 ตัว จะออกลูกได้ประมาณ 500-700 ตัว และปูนาใช้เวลาในการเจริญประมาณ 6-8 เดือนจึงจะโตเต็มที่

5.กรณีที่ปล่อยลูกปูเริ่มตั้งแต่นำลูกปูมาใส่บ่อเลี้ยงให้อาหารโดยลูกปูที่มีอายุในช่วง 15 วันแรก ควรให้ ไรแดง หนอนแดง เทา หรือไข่ตุ๋น กินเป็นอาหาร

หลังจากนั้นให้ปลาหรือกุ้งสับอาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยงลูกปลาดุก เมื่อมีอายุประมาณ 30 วันก็นำไปปล่อยเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์เพื่อให้มีขนาดโตเต็มวัยโดยปล่อยเลี้ยงในปริมาณ 1,000 ตัวต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตร

ปูนามีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบเช่นเดียวกับปูชนิดอื่น ๆ หลังจากฟักเป็นตัวแล้วปูนาจะลอกคราบประมาณ 13-15 ครั้งก็จะโตเป็นปูเต็มวัย ได้ขนาดตามที่ตลาดการ ต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน
การลอกคราบ

ปูที่จะลอกคราบสังเกตได้จากรอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองจะกว้างมากกว่าปกติ เมื่อใกล้จะลอกคราบปูจะนิ่งและเหยียดขาออกไปทั้งสองข้าง จากนั้นรอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองก็จะเปิดออก

ส่วนท้ายพร้อมกับขาเดินคู่สุดท้ายจะออกมาก่อน ขาคู่ถัดมาจะค่อย ๆ โผล่ออกมาตามลำดับ ส่วนก้ามคู่แรกจะโผล่ออกมาเป็นอันดับสุดท้าย ระยะเวลาที่ใช้เวลาลอกคราบทั้งหมดประมาณ1ชั่วโมง
ทำปูนาให้เป็นปูนิ่ม เพื่อเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์

มีผู้อ่านหลายท่านได้โทรมาถามผู้เขียนบ่อยครั้งว่า ปูนำทำปูนิ่มได้ไหม? คำตอบก็คือ ปูนาสามารถนำมาผลิตเป็นปูนิ่มได้เช่นเดียวกับปูทะเลและปูม้า ปูนานิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ และสามารถเพิ่มคุณค่าปูนาให้สูงขึ้น ปกติปูนาจะซื้อ-ขายกันกิโลกรัมละ 40 บาท

แต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ปูนิ่ม ราคาก็จะสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 100-200 บาทเป็นต้น ปูนานิ่มมีข้อดีที่ว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่สะอาด สามารถบริโภคได้ทั้งตัว มีปริมาณแคลเซียมและไคตีนต่อน้ำหนัก1 กรัมสูง เมื่อเปรียบเทียบกับปูนาทั้งตัวที่ยังไม่ลอกคราบ เหมาะสำหรับสตรี หรือผู้สูงอายุที่ต้องการแคลเซียม ไคตินและไคโตซานไปช่วยเสริมกระดูก สะดวกต่อการนำไปปรุงอาหาร ที่นิยมมากได้แก่นำไปชุบแป้งทอดกรอบ รับประทานทั้งตัว

เป็นอย่างไรบ้างครับการเลี้ยงปูนาทำได้ไม่ยาก พื้นที่ว่างลองทดลองดูนะครับ

ขอบคุณข้อมูลจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Visitors: 269,392