แมงแคง

แมงแคง หรือในภาษากลางเรียกว่า มวนลำไย ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Stink Bugs มีหลากหลายชนิดบางชนิดกินได้ บางชนิดก็กินไม่ได้ สาเหตุที่ชื่อมวนลำไยเพราะว่าชอบมากัดกินน้ำเลี้ยงยอดอ่อนของต้นลำไย เป็นศัตรูพืชและเป็นปัญหากับพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก

แต่บางชนิดนั้นเป็นอาหารชั้นเลิศ โดยเฉพาะแมงแคงที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น แมงแคงจิก หรือแมงแคงกิก , แมงแคงกุง , แมงแคงค้อ , แมงแคงขาโป้ สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ เช่นนำมาทำเป็นแจ่วแมงแคง เป็นอาหารอีสานที่อร่อยมาก ๆ

ชื่อพื้นบ้าน : แมงแคง แมงแคงค้อ แมงขิว (จอมยุทธใบไม้ผลิ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tessaratoma papillosa , Homoeocerus sp.
อันดับ : Hemiptera
ชื่อวงศ์ : Coreidae
ชื่อสามัญ : Stink Bugs

 ลักษณะทางกายภาพ
ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลปนเหลือง รูปร่างลักษณะคล้ายโล่ มีขนาดยาวประมาณ 25 – 31 มม. และส่วนกว้างตอนอก กว้างประมาณ 15 – 17 มม. ตัวเต็มวัยตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มตามใบหรือเรียงตามก้านดอก ไข่กลุ่มหนึ่งจะมีจำนวนโดยเฉลี่ย 14 ฟอง ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ประมาณ 7 – 14 วัน ตัวอ่อนจะมีสีแดงมีการลอกคราบ 5 ครั้ง ระยะตัวอ่อนกินเวลาประมาณ 61 – 74 วัน จึงจะเจริญออกมาเป็นตัวเต็มวัย แมงแคงมีสีน้ำตาลปนเหลือง รูปร่างลักษณะคล้ายโล่ มีขนาดยาวประมาณ 25 – 31 มิลลิเมตร ส่วนอกกว้างประมาณ 15 – 17 มิลลิเมตร

แหล่งที่พบ
ตามต้นค้อ ( ตะคร้อ) ต้นจิก ต้นฮัง และป่าเต็งรังทั่วไป ส่วนมากพบตามต้นค้อ แมงแคงอันนี้กินน้ำเลี้ยงจากยอดใบอ่อนต้นค้อ จึงพบได้ตามต้นค้อเป็นหลัก แต่ทางภาคเหนือ พบตามต้นลำไย ช่วงที่พบได้ง่าย ช่วงเดือน เม.ย – มิ.ย. ตามต้นค้อ ที่กำลัง งอกใบใหม่

วงจรชีวิต
แมงแคง มีอายุขัย นับตั้งแต่ไข่ – ตัวเต็มวัย – ตาย ศิริอายุได้ 1 ปี วงจรชีวิตเริ่มจากเม.ย. – พ.ค.ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มอยู่ตามใบและก้านดอกของต้นค้อ หรือพืชอื่นๆ มักวางไข่เป็นกลุ่ม ๆ ละ 5 – 28 ฟอง ระยะเวลาโดยประมาณ ระยะไข่ใช้เวลา 7 – 14 วัน ระยะตัวไม่เต็มวัย 105 – 107 วัน ระยะตัวเต็มวัยอาจมีอายุมากถึง 90 วัน หรือเกินกว่านี้
ศัตรูธรรมชาติ ศัตรูธรรมชาติของแมงอันนี้ เท่าที่ บ่าวปิ่นลม คนรูปหล่อ บ่ปรึกษาหมู่ บ่ปรึกษากอง สังเกตพบ ได้แก่ นกกะปูด นกกระลาง นกไก่นา กะปอม และ เด็กน้อยเล้ยงควายขี้ดื้อ

ประโยชน์และความสำคัญ
นำไปรับประทานเป็นอาหาร ได้แก่
1. กินดิบ เพียงแค่เด็ดปีกทิ้ง และบีบตรงส่วนท้องเพื่อให้ฉี่ที่มีกลิ่นฉุนๆ ออก
แล้วก็ใส่ปากหย่ำ หากอยากให้แซบ ต้องมีข้าวเหนียวกระติบน้อย และ แจ่วปลาแดกใส่ หมากเผ็ดหลอ จ้ำปลาแดก แล้วก็ แกล้มด้วยแมงแคงดิบ แซบอีหลี ระวังฉี่ หรือ เยี่ยวมัน ลวกลิ้นเด้อ

2.เอาไปคั่วหรือ เอาไปจ่าม ( เสียบไม้ย่างไฟ ) นำไปคั่วไฟอ่อนๆ จนสุก โรยเกลือเล็กน้อย แค่นี้ก็อร่อยทั้งกินเล่นๆ และกินเป็นกับแกล้ม หรือจะเสียบไม้ ย่างไฟพอสุก ก็แซบพอกัน หอมฮ๋วย

3.นำไปตำทำน้ำพริก หรือ แจ่วแมงแคง

4. เอาไปหมกไฟ รวมกันกับ กะปอมแม่ไข่ ใส่ใบตอง ( อันนี้แซบบ่มีแนวคือ )

ข้อควรระวัง
แมงอันนี้ มีกลไกป้องกันตัว คือ เยี่ยว ( ฉี่ ) เป็นกรดมีพิษ แสบร้อน เวลาจับ ต้องระวัง อย่าให้มัน เยี่ยวใส่ตา บ่ซั้น จะให้ดี ต้องใส่แว่น คือบ่าวหน่อ ไปจับมันเอา เทคนิคการจับ คือหันดากมันออกไปจากตัว เป็นต้นว่า หันดากไปทาง สาวส่าเมืองยโส
หรือทางจารย์ใหญ่ กะได้
อันหนึ่ง เวลาเยี่ยวมันถูกมือ ,แขน,ขา เมื่อแห้งแล้ว จะมีรอยคราบสีเหลือง, ดำ ติดตามมือ ตามตัว ล้างออกยาก มือเหลืองอ่อยฮ่อย ส่วนนิ้วมือเหลือง ย้อนว่า พันลำยาสูบ อันนี้บ่เกี่ยว เด้อ ( ผู้ลังคนดอกหวา )

วิธีการหาแมงแคง
1.“ตบแมงแคง”
ไม่ใช่การ ตบ แบบนางร้ายในละครเด้อ อุปกรณ์ในการตบ ต้องมีดังนี้ ไม้แส่ , ถุงดางเขียว, ถุงพลาสติก มัดทำเป็นถุงปลายไม้ ไปหา “ตบ”เอาตามต้นค้อ

2 “เลวแมงแคง”
ไม่ใช่ เลวระยำตามความหมายในภาษากลางเด้อ “เลว” ในที่นี้ เป็นภาษาอีสานแปลว่า ขว้าง เขวี้ยง
อุปกรณ์ ไม่ต้องมีอะไรมาก ค้อนไม้แกนหล่อน ขนาดพอเหมาะมือ ก็พอ ขว้างแล้วก็ วิไล่เอาโลด ส่วนมาก นิยมทำตอน ฝนตกเซาใหม่ ปีกแมงแคงยังเปียก บินไม่ได้ไกล หรือ ตอนเช้าๆ ตอน”ฝนเอี้ยน” จะดีมาก จ๊วด…

ในแง่วิถีชีวิตอีสาน
เมื่อฝนแรก โรยรินถิ่นอีสาน กลิ่นดินระเหิด อบอวน ใบไม้ที่ผลัดใบ เริ่มผลิใบอ่อน ต้นค้อ( ตะคร้อ) กำลังออกใบสีแดงอ่อนๆ เต็มต้น เด็กน้อยชาวอีสาน ต่างออกจาก หมู่บ้านตั้งแต่เช้า ไปหาเอาแมงแคง บ้างก็ถือไม้แส่ ไม้ส่าว มีถุงพลาสติก ทำเป็นถุงมัดคล้องไว้ตรงปลาย ไปหาจับเอาแมงแคง บ้างที่ไม่มีอุปกรณ์ ก็อาศัย ขึ้นจับเอาหรือ สั่นกิ่งไม้ให้ แมงแคงบิน แล้วก็ วิ่งไล่ไปตามทุ่งนากว้าง บางครั้งวิ่งไล่ตามองแต่แมลงที่บิน ลืมดูที่พื้น “ตำ” คันนา ล้มคุบดิน เป็นที่สนุกสนานเมื่อได้มาแล้ว ก็แบ่งกัน การไล่ล่าแมงแคง จึงเป็นกิจกรรม ที่ลูกอีสานแทบทุกคนเคยผ่าน จะรู้ว่า ทั้งเหนื่อยและสนุก เท่าใด

เมื่อฝนเริ่มแรกตกลงสู่ผืนดิน ชาวไฮ่ชาวนาต่างเตรียมตัว ลงไฮ่ ลงนาซึ่งบางหมู่บ้านต้องลงไปนอนนา หมายถึง ยกครัวเรือนไปอยู่กินที่ โรงนาตลอดฤดูจึงต้องมีการ วางแผนปลูกพืชไว้กิน ในฤดูทำนา มีการ” เฮ็ดไฮ่ “ ปลูกแตงจิงปลูกถั่ว ปลูกงา เพื่อเป็นอาหารในฤดูทำนา การเฮ็ดไฮ่ ต้องมีการ “เกียกไฮ่“ คือถากถางต้นไม้ เผาตอไม้ เพื่อเอาเถ้าถ่าน เป็นฝุ่นปุ๋ย ต้องเผาให้เหลือแต่เถ้าถ่านเกลี่ยให้เถ้านั้นกระจายเต็มพื้นที่การทำไฮ่ เรียกว่าการ ”เกียกไฮ่”
พ่อกับลูกชาย พากันไปโคกนา ทำการ”เกียกไฮ่ “ ติบข้าว ห่อปลาแดก น้ำเต้าห้อยไว้บนกิ่งไม้ ลุยเกลี่ยเถ้าถ่านที่ร้อนระอุ ไม่แพ้แดดกลางเดือนเมษาเมื่อเสร็จแล้ว ต้องมีการล้อมรั้ว ทำเสาและราวรั้ว ซึ่งต้องตรากตรำ ใช้แรงงาน เหงื่อท่วมตัว เมื่อตะวันเที่ยง ก็เดินไปที่ต้นค้อ หาเอาแมงแคง ทั้งตัวอ่อนของมันมาหมกใส่ใบตอง รวมกับ กระปอมแดงแม่ไข่ ที่จับได้ สับให้เป็นชิ้น ๆ คละเคล้ากันใส่น้ำปลาแดก ใส่พริก แล้วก็ห่อใบตอง ไปหมกขี้เถ้าไฟความหิว ความเหนื่อย คือ ความโอชะอันเป็นทิพย์ ประกอบกับ ความหอมของกลิ่นแมงแคง และเนื้ออันพอเหมาะของกะปอมแดงฮาวฮั้ว จึงเป็นอาหารอันสุดยอดแห่งความอร่อย ผู้ตั้งกระทู้ ยังจดจำรสชาติ แห่งโอชา อาหารมื้อนั้นได้ทุกครั้งที่มองทุ่งนาเวิ้งว้าง ที่มีต้นค้อยืนเด่น รสชาติโอชะและรสชาติความเหนื่อยล้าระคนกันมากับความทรงจำดีๆ ในสายลม


Visitors: 270,867